ศาลจังหวัดตราดเริ่มตั้งขึ้นในราว พ.ศ. 2444 ในชั้นแรกได้อาศัยศาลาหน้าโบสถ์ของวัดไผ่ล้อม เป็นที่ทำการศาลชั่วคราวประมาณ 2 ปี จึงได้ปลูกสร้างศาลชั่วคราวขึ้นใหม่ ศาลชั่วคราวที่ปลูกสร้างขึ้นใหม่นี้เป็นรูปทรงปั้นหยา หลังคามุงจาก ฝาไม้ระกำ พื้นไม้กระดาน ได้ใช้พิจารณาพิพากษาคดีอยู่จนรัฐบาลไทยได้มอบจังหวัดตราดให้แก่ฝรั่งเศส ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2448
วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 ฝรั่งเศสได้มอบจังหวัดตราดคืนให้เป็นของรัฐบาลไทย ศาลจังหวัดตราดจึงกลับมามีขึ้นใหม่ แต่ศาลชั่วคราวที่ปลูกสร้างขึ้นดังกล่าวก่อนจังหวัดตราดตกไปเป็นของฝรั่งเศสนั้นใช้การไม่ได้แล้ว ศาลจังหวัดตราดจึงได้ตั้งที่ทำการพิจารณาพิพากษาคดีอยู่ที่เรือนทรงปั้นหยาหลังหนึ่ง เรือนนั้นมีสภาพอย่างเดียวกับศาลก่อนจังหวัดตราดตกไปเป็นของฝรั่งเศส คือเสาไม้แก่น หลังคามุงจาก ฝาไม้ระกำ พื้นไม้กระดาน ศาลได้อาศัยเรือนหลังนี้ทำการพิจารณาพิพากษาคดีจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2453
ปีพ.ศ. 2452 ศาลจังหวัดตราดได้รับการจัดสรรงบประมาณสร้างศาลขึ้นใหม่เป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยาชั้นเดียว มีห้องพิจารณา 1 ห้อง ปลูกอยู่ในบริเวณศาลจังหวัดตราดปัจจุบัน เปิดทำการเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2453 จนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 จึงถูกรื้อและปลูกสร้างศาลจังหวัดตราดขึ้นแทน
ปีพ.ศ. 2506 ศาลจังหวัดตราดได้รับการจัดสรรงบประมาณค่าก่อสร้าง ให้สร้างอาคารศาลถาวรรูปทรงไทย 2 ชั้น 4 บัลลังก์ และได้ทำการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 และเปิดทำการเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2507 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน