นิทรรศการออนไลน์ : รอยประวัติศาสตร์ศาลยุติธรรม

ล่าสุด 25 ม.ค. 2564

ประวัติความเป็นมาของศาลยุติธรรม

 

 

ศาลยุติธรรมมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งมีลักษณะการปกครองแบบพ่อปกครองลูกโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีความต่าง ๆ ให้แก่ราษฎรของพระองค์โดยได้รับอิทธิพลแนวความคิดจาก “คัมภีร์พระธรรมศาสตร์” ต่อมาสมัยอยุธยาพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชภารกิจมากขึ้น ไม่อาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีความด้วยพระองค์เองได้ จึงทรงมอบพระราชอำนาจให้แก่พราหมณ์ปุโรหิตช่วยวินิจฉัยคดีความต่าง ๆ แทน ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตรวจชำระกฎหมายที่มีมาแต่สมัยอยุธยา โดยนำมาแก้ไขปรับปรุงและบัญญัติขึ้นใหม่ เรียกว่า “กฎหมายตราสามดวง

1618896049.jpg

ระบบศาลในสมัยรัตนโกสินทร์มีศาลกระจายอยู่ตามกระทรวง กรมต่าง ๆ หลายแห่ง แต่ละศาลมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีต่างพระเนตรพระกรรณแตกต่างกันไป ต่อมาบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองมากขึ้น ชาวสยามมีการติดต่อกับชาวต่างประเทศ ลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกได้แผ่ขยายเข้ามา ทำให้ระบบศาลไทยแต่เดิมต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสภาพเหตุการณ์ของบ้านเมือง มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดการสูญเสียเอกราชและความเป็นอธิปไตยของชาติ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นถึงข้อขัดข้องต่าง ๆ ซึ่งเป็นเหตุในการพิจารณาพิพากษาคดีล่าช้าไม่เป็นธรรมแก่ราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลขึ้น โดยได้รวบรวมศาลที่กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวง กรมต่าง ๆ ให้มารวมอยู่ ณ ที่แห่งเดียวกัน เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีดำเนินไปด้วยความยุติธรรม ถูกต้อง รวดเร็ว ราษฎรไม่ได้รับความเดือดร้อน และในโอกาสที่กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 100 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2425 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงวางศิลาก่อพระฤกษ์อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรม และโปรดเกล้าฯ ให้จารึกพระราชปรารภในการจัดตั้งศาลสถิตย์ยุติธรรมไว้ในแผ่นเงิน เรียกว่า “หิรัญบัตร” มีขนาดความกว้าง 9.5 ซ.ม. ยาว 37.2 ซ.ม. จำนวน 4 แผ่น บนแผ่นหิรัญบัตรจารึกด้วยอักษรไทยที่ประณีตบรรจงและทรงคุณค่าอย่างสูงยิ่ง ด้วยแสดงถึงพระราชปณิธานอันแรงกล้าที่จะดำรงความยุติธรรมด้วยอำนาจตุลาการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราษฎร แสดงให้เห็นถึงพระบรมราโชบายในการปกครองแผ่นดินและทรงเล็งเห็นว่าบ้านเมืองจะสงบสุขร่มเย็นได้ก็ด้วยอำนาจตุลาการเป็นสำคัญ

 

ดังนั้น จึงทรงปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลขึ้นใหม่ให้เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ โดยมีกรมพระสวัสดิ์วัดนวิศิษฏ์ กรมหลวงพิชิตปรีชากร และกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมทั้งสามพระองค์ ทรงเป็นกำลังสำคัญในการจัดรูปแบบกฎหมายและระบบศาลยุติธรรม ให้ศาลยุติธรรมมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นสถาบันที่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชนด้วยความเที่ยงธรรมสืบมาตราบจนทุกวันนี้

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ศาลยุติธรรมจึงถือเอาวันที่ 21 เมษายนของทุกปีเป็น “วันศาลยุติธรรม”

หน่วยงานภายนอก

แหล่งการเรียนรู้

Copyright 2020 © All Rights Reserved